Moving Average คืออะไร มีวิธีใช้หลายหลายรูปแบบ แล้วจะใช้แบบไหนดี

Moving Average คืออะไร

ทำความรู้จักกับ Moving Average ให้มากขึ้น

Moving Average คือ เส้นยอดฮิตของเทรดเดอร์ ที่สามารถให้ข้อมูลได้หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่ดูเส้นตัดกันเท่านั้น กับข้อมูลที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า การใช้เส้น MA มีความหมายอย่างไร เพราะถ้าดูแค่เส้นตัดแล้วแม่นจริง ก็คงจะรวยกันทั้งตลาดแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นมันไม่ใช่ แล้วความจริงนั้นคืออะไร ตามมาดูเลย

เส้น Moving Average หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า MA คือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เป็นอินดิเคเตอร์หนึ่งที่ใช้งานง่ายและได้ความนิยมกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในยุคแรก ๆ การใช้เส้นค่าเฉลี่ยนั้นถูกคิดค้นออกมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และมีการพัฒนาต่อ ๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง และก็มาถึงตลาดหุ้นและ Forex นั่นเอง

โดย William Peter Hamilton ซึ่งเป็นบรรณาธิการรุ่นที่ 4 ของ หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามและศึกษาหลักการของทฤษฎีดาว และเผยแพร่ผลงานที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนยาวนานหลายปี นับว่าเป็นบุคคลแรก ๆ ที่นำเส้นค่าเฉลี่ยเข้ามาประยุกต์ใช้ในตลาดหุ้นนั่นเอง

จากนั้นจึงมีผู้พัฒนาเส้น Moving Average เพื่อให้เข้ากับทฤษฎีต่าง ๆ อย่างแพร่หลายเส้น MA คือต้นแบบของอินดิเคเตอร์หลาย ๆ อย่างก็ว่าได้ ซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ และปัจจุบันก็มีผู้ที่นิยมใช้ในหลากหลายรูปแบบ ตามที่เทรดเดอร์แต่ละคนถนัดและตั้งค่าตามความพอใจ

เส้น Moving Average คืออะไร มีกี่ประเภท
เส้น Moving Average คืออะไร มีกี่ประเภท

เส้น Moving Average คือเส้นที่มีการใช้งานได้อย่างหลากหลาย และมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น

Simple Moving Average (SMA) เป็นเส้นค่าเฉลี่ยที่เหมาะกับการใช้หา แนวรับ แนวต้าน เนื่องจากเส้น SMA เป็นเส้นค่าเฉลี่ยที่ให้ความสำคัญของวันเท่า ๆ กัน จึงทำให้ไม่เกิดการแกว่งตามราคาปัจจุบัน เส้นนี้จะค่อนข้างนิ่ง

– Weighted Moving Average (WMA) เส้น WMA เป็นค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก พัฒนาต่อยอดมาจาก SMA โดยเอาวิธีทางสถิติมาปรับใช้ เพื่อให้ค่าเฉลี่ยเคลี่อนที่ ตอบสนองได้เร็วขึ้น โดยจัดการน้ำหนักจากข้อมูลล่าสุด และได้รับการถ่วงน้ำหนักจากข้อมูลก่อนหน้า และนำมาคำนวนตามสูตร จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาสะท้อนความไวในการเคลื่อนไหว และเข้าใกล้ราคามากกว่าเดิม

– Exponential Moving Average (EMA) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อ ลดจุดอ่อนของเส้น SMA โดยเส้น EMA ได้เพิ่มการถ่วงน้ำหนักของข้อมูล ทำให้ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของราคา เส้น EMA ก็จะเปลี่ยนแปลงตามราคาอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนราคาได้ไวกว่าเส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ในแบบอื่น ๆ

เส้นที่นิยมใช้กันเป็นอย่างมากนั่นก็คือ Exponential Moving Average (EMA) นั่นเอง และในระหว่างเดียวกันมีการปรับใช้ให้เข้ากับทฤษฎีหรือระบบเทรดต่าง ๆ โดยการปรับตั้งค่า Previous ตั้งแต่ 5 10 35 90 และอื่น ๆ ตามที่เทรดเดอร์เห็นสมควร

เพราะ Previous นั้นก็คือ แท่งเทียนก่อนหน้าตามจำนวนที่ต้องการจะใช้ ถ้าเทรดเดอร์ใช้ไทม์เฟรม Day 1แท่งก็จะเท่ากับ 1 วัน หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ค่าเฉลี่ยย้อนหลังกี่วัน เช่น ค่าเฉลี่ย 5 วัน หรือ 35 วัน โดยยิ่งจำนวนเยอะยิ่งเคลื่อนตัวช้า และเส้นค่าเฉลี่ยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มตามระยะเวลาของแต่ละเส้นนั่นเอง

แล้วจะเลือกใช้เท่าไหร่ดี ในตลาด Forex มีวิธีใช้เส้น Moving Average หลายวิธีมาก ไอเดียในการใช้คือ ในตลาด Forex ตลาดเปิดวันจันทร์ – ศุกร์ อาจจะเลือกใช้เส้นแรกที่ EMA 5 เพื่อสะท้อนราคาของหนึ่งสัปดาห์ ใช้ EMA 20 เพื่อสะท้อนราคาในระยะ 1 เดือน และใช้ EMA 60 เพื่อสะท้อนราคาของ 1 ไตรมาส เพียงเท่านี้ก็จะเห็นแนวโน้มระยะสั้น กลาง ยาว หรือถ้าเทรดเดอร์เทรดในไทม์เฟรมที่เล็กกว่า ก็ลองปรับใช้ตามความเหมาะสม

ตัวอย่างการใช้เส้น Moving Average คือ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นแนวรับแนวต้าน เช่น ราคาเคลื่อนที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น ไม่นานนักเกิดการพักตัวและราคากลับมาอยู่ใกล้ ๆ กับเส้น EMA 5 นั่นแสดงราคาลงมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยตามแนวโน้ม ยังมีโอกาสที่จะกลับตัวและไปต่อ แต่ถ้าหลุดเส้น EMA 5 นั่นแสดงว่าราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในระยะยาวยังมีโอกาสกลับขึ้นไป แต่ในระยะสั้นมีโอกาสกลับตัวหรือเป็นไซด์เวย์

และเมื่อราคาหลุดลงมาอย่างต่อเนื่อง เส้น EMA 5 ตัด เส้น EMA 20 นั่นแสดงว่าแนวโน้มในระยะกลางได้กลับตัวเป็นแนวโน้มขาลง และเมื่อเห็นแนวโน้มที่ชัดเจน เทรดเดอร์จะไม่เทรดสวนแนวโน้มเด็ดขาด จะต้องเทรดตามแนวโน้มเท่านั้น เพราะถ้ามองด้วยสถิตินั่นก็คือ ค่าเฉลี่ยราคาส่วนใหญ่กำลังชี้ให้เห็นว่า ราคากำลังต่ำลง แสดงถึงแนวโน้มขาลงนั่นเอง

การใช้ Moving Average คือ อินดิเคเตอร์หนึ่งที่สามารถปรับค่าได้ตามที่ต้องการ และสามารถใช้เพื่อตีความหมายได้หลายอย่าง ให้เหมาะสมกับเวลาที่เทรดเดอร์เลือกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการมองแนวโน้ม หรือใช้เป็นแนวรับแนวต้าน ดังนั้นเทรดเดอร์ควรทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับระบบเทรดเดอร์ที่มี ไม่แนะนำให้ใช้ตาม ๆ กัน โดยที่ไม่เข้าใจ เพราะถ้าตีความหมายผิด ชีวิตของพอร์ตอาจจะเปลี่ยนก็เป็นได้ อินดิเคเตอร์ทุกตัวล้วนมีการออกแบบมาให้ใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่ใช่ทั้งหมดของการตัดสินใจ โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง ถ้ายังไม่อยากล้างพอร์ต ควรใช้อย่างเข้าใจแล้วกำไรจะมาเอง

By Toto Editor

บทความที่เกี่ยวข้อง